ประเด็นร้อน
สังคายนาคณะสงฆ์ สมเด็จสังฆราชปลด 3 ชั้นพรหม
โดย ACT โพสเมื่อ May 25,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -
ผ้าเหลืองร้อนฉ่า! "ฐิติราช" แบ่งกำลังค้น 3 วัดใหญ่ "สระเกศ-สัมพันธ วงศ์-สามพระยา" หวังรวบตัวพระเอี่ยวคดีเงินทอนวัด แต่ "พระพรหมสิทธิ-พระพรหมเมธี" ล่องหน จับได้เพียง 5 รูปเค้นที่กองปราบฯ พระสังฆราชมีพระบัญชาปลด พระชั้นพรหม 3 รูปพ้น มส. ศาลเด็ดขาดไม่อนุญาตให้ประกันพระเถระทั้ง 5 รูป ส่ง ผลสึกทันทีก่อนนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตม.ขึ้นแบล็กลิสต์เจ้าคุณธงชัย
เมื่อวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 05.30 น. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชา การตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ตามหมายจับศาลอาญา ฐานความผิดฟอกเงิน จากคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือเงินทอนวัด ที่ออกเมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งเป็นการขยายผลจากการเข้าตรวจสอบบ้าน ร.ท.ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา นายทหารสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ที่พบบัญชีการโอนเงินในคดีดังกล่าว
ทั้งนี้ การตรวจค้นและจับพระเถระ ประกอบด้วย วัดสระเกศราชวรวิหาร เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย, วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์ และวัดสามพระ ยาวรวิหาร เขตพระนคร
โดยที่วัดสระเกศฯ พล.ต.ต.ไมตรีได้นำหมายศาลอาญาเข้าตรวจค้นเพื่อจับพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาส และเจ้าคณะภาค 10 กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งการตรวจค้นไม่พบตัวพระพรหมสิทธิแต่อย่างใด พบเพียงพระศรีคุณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และนายทวิช สังข์อยู่ อายุ 42 ปี เจ้าหน้าที่ดูแลภายในวัด
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลัง พบว่าวันที่ 23 พ.ค. เวลาประ มาณ 11.00 น. พระพรหมสิทธิได้มาฉันเพลตามปกติ ก่อนที่ช่วงเย็นๆ จะเดินทางออกจากวัดไป แต่พบรถที่เคยใช้ประจำจอดอยู่ นอกจากนั้นยังพบบัญชีเงินฝากของพระพรหมสิทธิ 10 บัญชี มีเงินหมุนเวียนเกือบ 132 ล้านบาท
ที่วัดสามพระยาวรวิหาร พล.ต.ต. สุทินได้นำหมายจับเพื่อจับพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาฯ กรรมการ มส. และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และพระอรรถกิจโสภณ เลขาฯ เจ้าคณะกรุงเทพฯ พร้อมตรวจค้นหาเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยว ข้องกับคดี
ส่วนจุดสุดท้าย ที่วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร พ.ต.อ.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รอง ผบก.ป. พร้อมคณะ ได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้น เพื่อจับพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม เจ้าคณะภาค 4-7 และกรรมการ มส.เช่นกัน แต่ไม่พบตัว จึงได้ตรวจค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการฟอกเงินเพื่อดำ เนินคดีต่อไป
ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่กองบัง คับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.ฐิติราชได้เดินทางมาติดตามการสอบสวนพระสงฆ์และฆราวาสที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด โดยระบุว่า ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงาน เพราะยังมีเป้า หมายอีกหลายจุดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย และอยู่ระหว่างติดตามตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง จากนี้เป็นขั้นตอนของการสอบสวน ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ตำรวจจะ ทำให้ดีที่สุด และเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหา แต่ต้องขอให้แยก แยะระหว่างสถาบัน ศาสนากับบุคคล ตำรวจทำงานด้วยความรอบคอบละเอียด ถูกคือถูก ผิดคือผิด คนทำงานไม่ดีก็จะเป็นบาปเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
คุม 5 พระเถระสอบเข้ม
กระทั่งเวลา 11.00 น. พล.ต.ต. ไมตรีได้นำตัวพระศรีคุณาพร หรือพระ ครูสิริวิหาร การสมจิตร จันทร์ศรี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ พระศรีคุณากรณ์ หรือพระมหาบุณรทวี คำมา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และพระพิจิตรธรรมาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเงินทอนวัดมาให้ปากคำ พร้อมของกลางคือซีพียูคอมพิวเตอร์และเอกสาร 1 กล่อง ก่อนนำตัวขึ้นไปสอบสวนด้านบนโดยไม่ยอมให้ติดตามบันทึกภาพและทำข่าวแต่อย่างใด โดยมีเจ้าหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าประตู โดยห้ามบุคคลภายนอกขึ้นบนอาคารอย่างเด็ดขาด และเมื่อเวลา 12.00 น. พนักงานสอบสวนได้เริ่มสอบสวนพระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งแยกกันสอบคนละห้องกันในแต่ละวัด
หลังใช้เวลาสอบกว่า 2.30 ชั่วโมง ในเวลา 14.30 น.พนักงานสอบสวน บก.ป.ได้นำตัวพระเถระชั้นผู้ใหญ่จาก 2 วัด ประกอบด้วย วัดสามพระยาฯ คือ พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัด กรรมการ มส. และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และพระอรรถกิจโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด เลขานุการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และวัดสระเกศฯ คือ พระศรีคุณาภรณ์, พระครูสิริวิหารการ และพระวิจิตรธรร มาภรณ์ หรือเจ้าคุณเทอด ทั้ง 3 รูป เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส รวมถึงฆราวาสอีก 4 ราย ประกอบด้วย น.ส.ฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา อดีตเจ้าของ หจก.ดีดี ทวีคูณ มารดา ร.ท.ฐิติทัศน์ น.ส.นุชรา สิทธินอก แม่บ้าน, นายธีระพงษ์ พันธุ์ศรี และนายทวิช สังข์อยู่ ไปขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.-4 มิ.ย.นี้เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดด้วย
โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้ว อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 รายได้ ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดเพื่อขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย รายละ 250,000 บาท รวมเงินประกันทั้งสิ้น 2,250,000 บาท
กระทั่งเวลา 20.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย โดยศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์การกระทำความผิดมีผล กระทบต่อพุทธศาสนา และมีลักษณะเป็นขบวนการ โดยมีการแบ่งหน้าที่ยักย้ายเงินที่ได้มาผ่านทางธนาคาร จึงต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหากับพวก หากให้ปล่อยชั่วคราวแล้วเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง
โดยภายหลังศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ก็ได้ทำการสึกพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูปจากความเป็นพระ โดยถอดพระเหลือง แล้วให้สวมชุดขาว โดยทั้งพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป และฆราวาสอีก 4 ราย ก็ถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างการฝากขังนี้ต่อไป
ทั้งนี้ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ระบุว่า สตม.ได้ขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์พระพรหมสิทธิ เพื่อไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศผ่านด่าน ตม.แล้ว พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความเข้มงวดตามด่านถาวรทุกจุด และด่านตามแนวชายแดนทั่วประเทศ
ปลด 3 พระชั้นพรหมพ้น มส.
ขณะเดียวกัน พระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณา ยก (อัมพร อมฺพโร) เผยว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาให้กรรมการ มส.พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 3 รูป คือ 1.พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร 2.พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และ 3.พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตามที่สำนักงาน พศ.ประมวลผลเสนอมา ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการให้พ้นตำแหน่งไปก่อน หากทั้ง 3 รูปสามารถพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการทางกฎ หมาย และไม่มีความผิด ก็สามารถที่กลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการ มส.ได้อีกครั้ง
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเข้าตรวจค้นและจับกุมพระเถระชั้นผู้ ใหญ่ว่า เขาไปตรวจเรื่องเงินทอน ส่วน จะเชิญไปให้ปากคำกี่รูปนั้น เป็นเรื่องของตำรวจ และไม่ใช่นโยบายการจัดระเบียบสงฆ์ แต่เป็นเรื่องการทุจริต เป็น เรื่องของการตรวจสอบ หากไม่ผิดก็ไม่เป็นไร ถ้าผิดก็ว่าไป เจ้าหน้าที่ตำรวจเขารู้ว่าควรทำอย่างไร
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ กล่าวเช่นกันว่า เป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ได้เดินหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงความรู้สึกของพุทธ ศาสนิกชน ซึ่งทุกคนต้องแยกแยะให้ออก เพราะชาวไทยพุทธก็ยังต้องกราบไหว้พระกันอยู่ จึงเชื่อว่าหากเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ทุกอย่างก็จะจบลง คนไทยก็จะไหว้พระตามปกติ
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบ สวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าสิ่งที่ตำรวจดำเนินการไปเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏ และเรื่องของคณะสงฆ์นั้น จะประกอบไปด้วยกฎหมาย มส.และพระธรรมวินัย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน
"เรื่องการสึกพระนั้น มีกระบวน การ ขั้นตอน ตามกฎของ มส. และพระธรรมวินัยที่ต้องพิจารณาเชื่อมโยงกัน สำหรับกรณีดังกล่าวต้องค่อยๆ ดูไปก่อน พศ.ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์อยู่ แล้ว เชื่อมั่นว่าเรายังมีพระสงฆ์ที่ดี สมควรแก่การกราบไหว้ด้วยความจริงใจอยู่เต็ม ประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะช่วยกันทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ก้าวหน้าสืบต่อไป" นายสุวพันธุ์ระบุ
นายมโน เลาหวณิช รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องรีบปฏิบัติการ เพราะกลัวหลักฐานต่างๆ จะหายไป ส่วนที่พระพรหมสิทธิไม่อยู่ที่วัดระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น น่าจะรู้ตัวหรือมีลูกศิษย์โทรศัพท์แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งเชื่อว่ายังหลบอยู่ในประเทศ อาจไปหลบซ่อนอยู่ตามบ้านลูกศิษย์ เพราะรถยนต์ที่ใช้ประจำก็ยังอยู่
"พระพรหมสิทธิอาจไปหลบเพื่อตั้งหลัก เพราะหลักฐานในคดีที่ท่านเกี่ยว ข้องตามข่าวค่อนข้างชัดเจน และมีเงินในบัญชีกว่า 100 ล้านบาท ส่วนกรณีของพระพรหมดิลกนั้น น่าจะหลบหนีทันมากกว่า เพราะปกติพระผู้ใหญ่ 3 รูป คือ วัดสามพระยาฯ วัดสระเกศฯ และวัดสัมพันธวงศ์ฯ พบปะกันบ่อยอยู่แล้ว" นายมโนกล่าว
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน